:
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เทศบาลตำบลหาดเล็ก // ติดต่อสอบถาม : โทรศัพท์ : 039-510217 อีเมล์ : saraban@hadlektrat.go.th

ยุทธศาสตร์การพัฒนา

 

  เทศบาลตำบลหาดเล็ก ได้วางแผนแนวทางการพัฒนาในช่วงสี่ปี โดยยึดหลักปรัชญา  “เศรษฐกิจพอเพียง”  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางปฏิบัติ และแนวคิดตามนโยบายรัฐบาล เช่น สนับสนุนรัฐบาลในการปราบปรามเอาชนะยาเสพติด สร้างชุมชนเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน และให้มีการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส ได้กำหนดยุทธศาสตร์และ
แนวทางการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลมีคุณภาพและยั่งยืน เสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ทั้งในด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ
ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาช่วงสี่ปีดังนี้


1.ยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเทศบาลให้มีมาตรฐานและทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการคมนาคมขนส่งสายหลักให้มีมาตรฐานการท่องเที่ยวและสาธารณูปโภคต่างๆ  โดยมีแนวทางพัฒนา  ดังนี้
1.1  ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมให้มีมาตรฐานและทั่วถึง
1.2 พัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อใช้ในการอุปโภค – บริโภคและเกษตร
1.3 พัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค – สาธารณูปการ ให้ทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

2.ยุทธศาสตร์ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต
     มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเทศบาล ให้ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะการประกอบอาชีพและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต  ส่งเสริมให้คนในสังคม/ชุมชนมีคุณธรรม มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ และมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนในสังคมมีความรอบรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม มุ่งเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนและมุ่งส่งเสริมการจัดบริการสังคมสงเคราะห์แก่ เด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ โดยมี    แนวทางพัฒนา ดังนี้

2.1   ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการบริการทางสังคม การสังคมสงเคราะห์ คุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ
2.2   ส่งเสริมและสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงและได้รับบริการทางสาธารณสุขอย่างทั่งถึง
2.3   ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ ประชาชน ให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ใช้จ่ายให้มีวินัย และสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม
2.4   ส่งเสริม บ้าน–วัด-โรงเรียน และชุมชนให้เป็นต้นแบบและมีภูมิคุ้มกันทางสังคม
              
3. ยุทธศาสตร์ ด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคมและการรักษาความสงบเรียบร้อย
   มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  รวมทั้งมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำงานร่วมกันและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอบายมุขและการเสริมสร้างความสมานฉันท์ของชุมชนในท้องถิ่น โดยมี แนวทางพัฒนา  ดังนี้

3.1   ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบประชาธิปไตยภาคพลเมือง การพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน สนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อการพัฒนาชุมชน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนาชุมชนความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพ
3.2   พัฒนาด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยนำข้อมูลการเกิดสาธารณภัยในท้องถิ่นมาวิเคราะห์หาแนวทางป้องกันหรือลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
3.3  ส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย
3.4  ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาหนี้นอกระบบ และอบายมุข
             
4. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การวางแผน การส่งเสริมการลงทุนพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว
     มุ่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในเขตเทศบาล  โดยการส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกรในเขตเทศบาลดำรงชีวิตตามแนวทางพระราชดำริ  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์  ร่วมแรงร่วมใจกันในการดำเนินการในด้านการผลิตและการตลาด เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนา รวมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาคธุรกิจ  หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพ
ในขณะเดียวกันก็จัดหาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีอยู่ให้มีศักยภาพและมีความหลากหลาย ภายใต้
การมีส่วนร่วมและจิตสำนึกของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี  โดยมีแนวทางพัฒนา  ดังนี้

4.1   ส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรม การฝึกอาชีพและสร้างอาชีพให้แก่ กลุ่มเกษตรกรและประชาชน
4.2   ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชน และมุ่งเน้นให้เกิดการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4.3   ส่งเสริมและสนับสนุนการตลาดและการกระจายผลผลิตของเกษตร
4.4   พัฒนาและส่งเสริมการค้าการลงทุนการค้าตามแนวชายแดนและภูมิภาคอินโดจีน
4.5   พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมให้ศักยภาพและมีมาตรฐานและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ๆ
4.6   ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตราด
4.7   ส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว
4.8   ส่งเสริมความสัมพันธ์ และพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและอินโดจีนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน
4.9   เสริมสร้างความรู้ทางภาษาของประเทศเพื่อนบ้านในการรองรับกับประชาคมอาเซียน

5. ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

มีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ธำรงรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ตลอดจนยกระดับคุณภาพของทรัพยากร  มุ่งพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ตามหลัก “ความสมดุล” ระหว่างผลได้ผลเสียและคำนึงถึง
หลักความเป็นธรรมในการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ โดยการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ภายใต้หลัก  “ความพอเพียงและความเอื้ออาทร” ของวิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์และมีการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันทุกภาคส่วน  เพื่อสร้างหลักประกันว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น  จะยังคงอยู่และคงความอุดมสมบูรณ์ สามารถเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นให้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  โดยมีแนวทางพัฒนา ดังนี้

5.1   ส่งเสริมและสนับสนุนรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.2   ส่งเสริมและฟื้นฟูสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเป็นแบบเชิงนิเวศน์
5.3   จัดให้มีระบบการกำจัดขยะ ระบบบำบัดน้ำเสียและการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม
5.4  ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
5.5  ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อลดภาวะโลกร้อน
5.6  พัฒนาระบบการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลภัยพิบัติจากทุกภาคส่วนและส่งเสริมการมีส่วนร่วม เรียนรู้ภัยพิบัติอย่างทั่วถึง


6.ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา การกีฬา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
มุ่งพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ  พัฒนาด้านการกีฬาให้มีมาตรฐาน รักษาและธำรงไว้ซึ่งศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณีอันดีงาม ส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยมีแนวทางพัฒนา ดังนี้

6.1   ส่งเสริมพัฒนาการศึกษา
6.2   ส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ
6.3   อนุรักษ์และส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม จารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพย์สินทางปัญญา

7.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการที่ดีและการบริการสาธารณะ
มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนากระบวนการบริหารและการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ  ประหยัด โปร่งใสและเป็นธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานท้องถิ่นมากที่สุด  ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการทำงานร่วมกัน  โดยมีแนวทางพัฒนา ดังนี้


7.1   การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานท้องถิ่น
7.2 การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรและชุมชน โดยการส่งเสริมระบบคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ สร้างจิตสำนึกและเพิ่มสมรรถนะ ให้แก่ บุคคลากรภาครัฐในการนำนโยบายและกฎหมายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7.3 เสริมสร้างความเข้มแข็งโดยกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามระบอบประชาธิปไตย ในการร่วมรู้ ร่วมคิด ร่วมรับผิดชอบในกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน
7.4   ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและให้บริการที่ดีแก่ประชาชน
7.5   จัดหา/ปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์  สถานที่ รวมตลอดถึงครุภัณฑ์สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานและพัฒนาระบบเทคโนโลยี การสื่อสารและระบบสารสนเทศ